ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ล่าสุดจากธนาคารกรุงไทย (KTB) ตัวล่าสุดที่กำลังได้รับความสนใจก็คือ Krungthai Travel Card บัตรจ่ายเงินที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศที่ดีกว่าการแลกเงินกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปหรือการใช้บัตรเครดิตทั่วไป
บัตร VISA พร้อมร้านแลกเงินส่วนตัว
จุดประสงค์ของตัวบัตร Krungthai Travel Card นี้ คือใช้บัตรรูดเพื่อชำระเงินกับเครื่อง EDC ที่ร้านค้า หรือกดเงินจากตู้ ATM ในต่างประเทศได้เฉกเช่นเดียวกับบัตรเครดิต VISA ทั่วไปครับ แต่ลูกคัาจำเป็นต้อง “แลกเงิน” จากสกุลบาทไทยในบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันของเรา ไปเป็นสกุลเงินต่างประเทศที่เราต้องการก่อนผ่านทางแอพพลิเคชั่น KTB netbank บนสมาร์ทโฟน โดยบัตรนี้รองรับ 7 สกุลเงินหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยูโร (EUR) ปอนด์ (GBP) เงินเยน (JPY) ดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) ครับ
การสมัครบัตร
วันนี้ผมได้ไปทำการสมัครบัตร Krungthai Travel Card ที่ธนาคารกรุงไทยสาขาใกล้บ้านมาครับ พนักงานแจ้งว่าบัตรเพิ่งจะเข้ามาที่สาขาเมื่อวานนี้เอง ผมเป็นลูกค้ารายแรกที่ไปสอบถามเกี่ยวกับบัตรตัวนี้เลย พนักงานจึงยังไม่ทราบข้อมูลมากนัก และยังไม่เคยศึกษาขั้นตอนการสมัครบัตรประเภทนี้ให้กับลูกค้ามาก่อน จึงใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2 ชั่วโมงครับในการสมัครบัตรครั้งนี้ เนื่องจากยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใหม่มาก อาจจะต้องทำใจเรื่องนี้สักนิดหนึ่งครับ
ตอนนี้มีโปรโมชั่นฟรีค่าออกบัตร (200 บาท) ภายใน 15 พฤษภาคม 2561 นี้ และฟรีค่าธรรมเนียมรายปีให้ 2 ปีแรกด้วยนะครับ
ท่านที่สนใจจะสมัครบัตรตัวนี้ ต้องมีบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันกับธนาคารกรุงไทย และสมัครบริการ KTB netbank (บนมือถือ) กับทางธนาคารด้วยนะครับ
ในระหว่างการสมัครบัตรที่สาขา พนักงานจะให้เราตั้ง PIN Code 6 หลัก สำหรับใช้งานกับเจ้าบัตรตัวนี้เลยนะครับ
เมื่อได้รับการเปิดบัตรเรียบร้อยแล้ว เราจะได้รับบัตรเดบิต VISA แบบนี้เลยครับ ลายบัตรค่อนข้างสวยใช้ได้เลยทีเดียว เมื่อสะท้อนกับแสงจะออกเป็นสีน้ำเงินครับ บัตรมีอายุ 2 ปี
ตัวบัตรนี้เป็นแบบ Chip เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเทคโนโลยี Visa payWave ช่วยให้เราสามารถแตะบัตรเพื่อชำระเงินกับร้านค้าที่รองรับได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียบบัตรเลยครับ
บัตรนี้เขาผลิตมาเพื่อแจกจ่ายไปยังสาขาต่าง ๆ ล่วงหน้าเลยนะครับ ฉะนั้นชื่อบนหน้าบัตรจะเป็น “KRUNGTHAI TRAVEL” โดยก่อนหน้านี้ผมได้สอบถาม Call Center ว่าสามารถออกบัตรให้เป็นชื่อลูกค้าได้เลยหรือไม่ ทาง Call Center แจ้งว่าสามารถทำได้ ให้แจ้งความประสงค์กับทางสาขาตอนสมัครบัตรเลย แต่ทางสาขาได้ติดต่อกับหน่วยงานภายในธนาคารแล้วได้ให้คำตอบว่า “ไม่สามารถออกบัตรเป็นชื่อลูกค้าได้” ครับ
การใช้งานบัตร
เมื่อเราทำการสมัครบัตรกับทางสาขาเรียบร้อยแล้ว พอเราเปิดแอพพลิเคชั่น KTB netbank ขึ้นมา ให้เข้าไปที่เมนู Travel Card ครับ (ควรอัพเดตแอพฯ ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดก่อนนะครับ)
จากนั้นระบบจะแสดงหน้าจอว่าเรามีจำนวนเงินต่างประเทศแต่ละสกุลอยู่ในบัตรของเราเท่าไรบ้าง
เมื่อเรากดเข้าไปในเมนูของแต่ละสกุลเงิน เราสามารถเรียกดูรายการเดินบัญชี (statement) สำหรับสกุลเงินนั้น ๆ
รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับการซื้อหรือขายเงินสกุลดังกล่าว ณ เวลานั้น ๆ
ถ้าเรากดปุ่ม “ซื้อ” เราก็สามารถใช้เงินบาท ซื้อเงินสกุลดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น
- ด้านซ้ายให้เลือกบัญชีออมทรัพย์/กระแสรายวันของเรา ที่จะใช้เงินบาทซื้อเงินต่างประเทศ
- ด้านขวาให้เลือกสกุลเงินต่างประเทศที่จะซื้อ
- ใส่จำนวนเงินต่างประเทศที่ต้องการซื้อ
- ระบบจะคำนวณให้ว่าต้องใช้เงินบาทเท่าไรในการซื้อตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้น
- กดตกลงเพื่อทำการซื้อ
เมื่อเราซื้อเงินต่างประเทศแล้ว เงินเหล่านั้นจะไปปรากฎเป็น Card Balance สำหรับแต่ละสกุลเงิน ซึ่งเราสามารถใช้จ่ายได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- รูดบัตร ณ ร้านค้าในต่างประเทศที่รับบัตร VISA เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ (ไม่มีค่าธรรมเนียม)
- ถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ (ปกติครั้งละ 100 บาท ฟรีค่าธรรมเนียมถึง 15 พ.ค. 2561 นี้เท่านั้น)
- ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ (เว็บไซต์) ที่รองรับการชำระเงินด้วยบัตร VISA ภายใต้ 7 สกุลเงินที่บัตรรองรับ
ถ้าเราใช้เงินต่างประเทศไม่หมด แล้วต้องการขายคืนธนาคาร เพื่อรับเงินบาทไทย ก็สามารถกระทำได้ผ่าน KTB netbank เช่นกันครับ ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน ณ ช่วงเวลานั้น ๆ
เมื่อขายคืนแล้ว เงินบาทจะถูกโอนกลับเข้าสู่บัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันที่เราผูกไว้กับบริการ KTB netbank นั่นเองครับ
เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยน
ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ผมได้ตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน (JPY) ของ Krungthai Travel Card พบว่า
- ราคาซื้อจากธนาคาร: 0.2936
- ราคาขายคืนธนาคาร: 0.2932
ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของ Superrich Thailand สำหรับเงินเยน (JPY) พบว่า
- ราคาซื้อจาก Superrich: 0.2945
- ราคาขายคืน Superrich: 0.2925
เราจะเห็นได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Krungthai Travel Card และ Superrich Thailand พบว่าค่อนข้างมีความใกล้เคียงกันมาก แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และดูเหมือนว่า Krungthai Travel Card จะค่อนข้างให้เรทดีกว่านิดหนึ่งเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นหลักของบัตรตัวนี้เลยล่ะครับ
หากเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารทั่วไปหรืออัตราแลกเปลี่ยนของบัตรเครดิต จะเห็นว่า Krungthai Travel Card มีความน่าสนใจมากเลยทีเดียวครับ
ค่าธรรมเนียม & วงเงิน
- แลกเงินต่างประเทศเก็บไว้ในบัตรได้สูงสุด 1,000,000 บาท (รวมทุกสกุลเงิน)
- ค่าธรรมเนียมการออกบัตร: 200 บาท (ฟรีถึง 15 พ.ค. 2561)
- ค่าธรรมเนียมรายปี: ฟรี 2 ปีแรก
- ค่าธรรมเนียมการถอนเงินผ่านเครื่อง ATM: 100 บาท/ครั้ง (ฟรีถึง 15 พ.ค. 2561)
- ค่าธรรมเนียมการสอบถามยอดผ่านเครื่อง ATM: 15 บาท/ครั้ง (ฟรีถึง 15 พ.ค. 2561)
- ค่าธรรมเนียมการขายเงินคืนผ่านแอป KTB netbank: ฟรี 5 ครั้ง/เดือน ครั้งต่อไป ครั้งละ 100 บาท (ฟรีถึง 15 พ.ค. 2561)
- วงเงินถอนผ่านเครื่อง ATM: 50,000 บาทต่อวัน
- วงเงินใช้จ่ายที่ร้านค้า: 500,000 บาทต่อวัน
บทสรุป
- บัตรนี้สำหรับใช้งานในต่างประเทศเท่านั้น หากใช้งานกับตู้ ATM ในประเทศไทย จะทำได้เพียงการเปลี่ยนแปลงรหัสผ่าน (PIN) เท่านั้น
- อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินถือว่าทำได้ดีมากครับ มีความใกล้เคียงกับร้านแลกเงินชื่อดังมากเลยทีเดียว หากสามารถคงมาตรฐานไว้ในระดับนี้ได้ตลอดไป ก็ถือว่าเป็นบัตรที่มีความน่าสนใจตัวหนึ่งเลยทีเดียว
- ลดความเสี่ยงในการถือเงินสดระหว่างเดินทาง เพราะเราสามารถแลกเงินและเก็บไว้ในบัตรได้ โดยสามารถนำบัตรไปรูดที่ร้านค้า ถอนผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ หรือใช้กับร้านค้าออนไลน์ได้
- สามารถแลกเงินเพิ่มหรือจะขายเงินต่างประเทศได้ด้วยตนเองตลอดเวลาผ่านแอพพลิเคชั่น KTB netbank
- วงเงินการถอนผ่านเครื่อง ATM ไม่สูงมาก หากไปเที่ยวกันเป็นหมู่คณะใหญ่ และต้องการใช้เงินสดจำนวนมากภายในวันเดียวกันจากบัตรใบนี้ใบเดียว อาจจะไม่เพียงพอครับ
- หากท่านสนใจบัตรตัวนี้อยู่ แนะนำให้ไปที่ธนาคารกรุงไทยสาขาใกล้บ้านเลยนะครับ เพราะตอนนี้มีโปรโมชั่นฟรีค่าออกบัตรถึง 15 พฤษภาคม 2561 นี้ครับ และฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปีแรกอีกด้วย
- ควรติดตามเงื่อนไขและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ว่าหลังช่วงโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียม จะยังคุ้มค่าสำหรับการใช้งานของแต่ละท่านหรือไม่
ที่มา – ธนาคารกรุงไทย